ไขข้อสงสัย จะซื้อที่ดินทั้งทีต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างนะ

หนึ่งในความนิยมในการสะสมทรัพย์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัด นั่นคือ การซื้อที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเพื่อเก็บ ปล่อยเช่าหรือเก็งกำไร เพาะที่ดินนอกจากจะไม่มีการชำรุดทรุดโทรมได้ง่ายแล้ว ราคาของที่ดินยังสูงขึ้นทุกปี สูงต่ำมากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับทำเลและความต้องการของผู้ซื้อ เรียกได้ว่าผลตอบแทนดียิ่งกว่าฝากเงินออมเสียอีกค่ะ
อย่างไรก็ตามการขายอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีภาระภาษีตามมา ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ มาเกี่ยวข้องเสมอ โดยบทความนี้โฮมฟายเดอร์จะขอนำเสนอข้อมูล ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา หากขายอสังหาริมทรัพย์อย่างที่ดินจะต้องเสียภาษี ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมอะไรบ้าง ตามมาดูกันได้เลยค่ะ
- ค่าธรรมเนียม
เป็นค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ คิดในอัตราร้อยละ 2 จากราคาประเมินหรือราคาขาย แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่า ก็ใช้ราคานั้นในการคำนวณ โดยราคาประเมิน คือ ราคาที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นราคากลางของอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการคิดค่าธรรมเนียมและภาษีจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง โดยจะมีการปรับเปลี่ยนราคาประเมินใหม่ทั่วประเทศทุกๆ 4 ปี
ปัจจุบันกรมที่ดินมีการอัพโหลดข้อมูลเกี่ยวกับราคาที่ดินทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าไปตรวจสอบเบื้องต้น บนเว็บไซต์ Property.treasury.go.th เพื่อให้ผู้ที่จะซื้อหรือจะขายที่ดิน จะได้กำหนดราคาได้เหมาะสม ซึ่งราคาประเมินอาจจะสูงหรือต่ำกว่าราคาซื้อขายจริงก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วราคาประเมินจะต่ำกว่าค่ะ ส่วนราคาตลาดก็คือ ราคาที่ใช้ในการซื้อขายกันจริง ซึ่งจะสอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานของตลาดในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะมีการปรับตัวตามภาวะค่าครองชีพอยู่ตลอดเวลา ราคาตลาดจึงมักสูงกว่าราคาประเมินนั่นเอง
- ค่าอากรแสตมป์
คือ ค่าอากรแสตมป์ที่ผู้ขายต้องเสียในขั้นตอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมินโดยเลือกราคาที่สูงกว่ามาใช้ในการคำนวณ
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ
เป็นภาษีทางอ้อมที่เก็บจากฐานบริโภคทั่วไปภายในประเทศไทย โดยจะจัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่าง เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั่นเองค่ะ กรณีผู้ขายถือครองอสังหาริมทรัพย์เป็นเวลาน้อยกว่า 5 ปี จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ถ้าถือครองอสังหาริมทรัพย์นานเกินกว่า 5 ปี หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนานกว่า 1 ปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ในอัตราร้อยละ 3.3 ของราคาซื้อขาย หรือราคาประเมิน โดยเลือกราคาที่สูงกว่ามาใช้เป็นฐานในการคำนวณ กรณีที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะได้รับยกเว้นค่าอากรแสตมป์ในข้อ 2
- ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย
เนื่องจากเงินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นรายได้ จึงต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย